วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

สิ่งแวดล้อมและพลังงาน
การกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน
1.  บทนำ
                จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ  ในปี  .. 2551  ประเทศไทยมีขยะมูลฝอยชุมชนที่เก็บขนได้ทั่วประเทศประมาณ  15.04  ล้านตัน/ปี  หรือ  41,213  ตัน/วัน  เพิ่มขึ้นจากปี  .. 2550  ประมาณ 0.32  ล้านตัน  หรือร้อยละ  2.18  ซึ่งขยะมูลฝอยที่ได้รับการกำจัดอย่างถูกหลักสุขาภิบาล  มีเพียงร้อยละ  37  โดยอยู่ในพื้นที่เขตเมือง  ได้แก่  กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา  และเขตเทศบาลบางพื้นที่  ส่วนขยะมูลฝอยที่เหลือประมาณร้อยละ  63  ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง  ส่วนใหญ่ถูกนำไปเทกองทิ้งไว้  นำไปฝังในหลุม  หรือเผากลางแจ้ง  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมา  เช่น กลิ่นรบกวน  น้ำชะขยะปนเปื้อนแหล่งน้ำดื่มน้ำใช้  รวมทั้ง  เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์และพาหะนำโรค  ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งสิน
                เมื่อพิจารณารูปแบบวิธีการกำจัดขยะที่มีอยู่ในปัจจุบัน  สามารถจำแนกได้เป็น  3  ประเภทหลัก คือ  การทำปุ๋ยหมัก  การฝังกลบ  และการเผา  พบว่าการหมักทำปุ๋ยสามารถกำจัดได้เฉพาะขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เท่านั้น  และยังมีกากเหลือที่ต้องนำไปกำจัดต่อไป  ส่วนการฝังกลบนั้น  แม้จะดำเนินการด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม  แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชนค่อนข้างสูง  โดยมักมีข้อจำกัดในการจัดหาพื้นที่ที่มีการต่อต้านของชุมชนโดยรอบเสมอ
                อย่างไรก็ตาม  จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย  เช่น  ปริมาณและองค์ประกอบขยะ  เทคโนโลยี  การลงทุน ความพร้อมของหน่วยงานที่รับผิดชอบและข้อจำกัดของพื้นที่  ซึ่งระบบกำจัดขยะที่ดีมักเป็นแบบผสมผสาน  เช่นการหมักทำปุ๋ย  ระบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ  ระบบเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า  และระบบ  ฝังกลบเถ้า เป็นต้น
2.  เทคโนโลยีการกำจัดมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน (WTE Technology)
                เทคโนโลยีซึ่งเป็นที่ยอมรับและมีการนำมาใช้งานแล้วอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  สามารถจำแนกได้เป็น 2  กลุ่มดังนี้
2.1   กระบวนการทางชีว-เคมี  (Bio-Chemical  Process)  ซึ่งอาศัยจุลิทรีย์ในการย่อยสลายขยะมูลฝอย  พลังงานที่ได้รับจะอยู่ในรูปของก๊าซชีวภาพ  ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นก๊าซเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานต่อไป
                2.2  กระบวนการทางความร้อน-เคมี  (Thermo-chemical  Process)  หรือกระบวนการทางความร้อน  ตามคำจำกัดความของสหภาพยุโรป  หมายถึงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้ความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อ  ลดมวลปริมาตร  ก่อนที่จะนำไปกำจัดขั้นสุดท้าย 
3.  เทคโนโลยีความร้อน  (Thermal  Technology)
                กระบวนการทางความร้อน  ต้องอาศัยความร้อนจากแหล่งภายนอก  ช่วยให้ขยะมูลฝอยเกิดปฏิกิริยาการแตกสลายด้วยความ  อย่างต่อเนื่อง  โดยประสิทธิภาพของระบบขึ้นอยู่กับความสามารถในการเผาทำลายและเปลี่ยนรูปพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไปใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า  หรือเป็นพลังงานรูปแบบอื่นได้  ได้แก่  ระบบเตาเผา  และระบบห้องเผาไหม้โดยใช้ก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์
3.1      ระบบเตาเผาแบบมวลรวม  (Incineration)
กระบวนการเผาไหม้โดยตรง  เป็นการทำลายขยะมูลฝอยโดยการลดมวลและปริมาตร  ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นที่เกิดขึ้นระหว่างเชื้อเพลิงและออกซิไดเซอร์  ได้เป็นพลังงานความร้อน  สามารถแบ่งออกเป็น  2  รูปแบบดังนี้
1.  ระบบเผาไหม้โดยตรงหรือระบบเผาไหม้มวล    เป็นการเผาทำลายขยะมูลฝอยในสภาพที่รับเข้ามาโดยไม่ต้องมีกระบวนการจัดการเบื้องต้นก่อน
2.  ระบบที่มีการจัดการเบื้องต้น  ซึ่งต้องมีระบบเพื่อการลดขนาด  การบดตัด  และการคัดแยก  ซึ่งรวมถึงระบบผลิตเชื้อเพลิงจากขยะก่อนป้อนเข้าสู่ห้องเผา
3.2  กระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์  (Synthesis  Gas)
กระบวนการเผาไหม้โดยใช้ก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์  เป็นการสร้างอุณหภูมิสูงมากเพื่อทำให้วัตถุตั้งต้นที่เป็นสารอินทรีย์แตกตัวเป็นอนุภาคของก๊าซ  จำแนกออกเป็น  2  ส่วน  คือ
1.  ก๊าซซิฟิเคชั่น  (Gasification)  เป็นกระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากขยะ  โดยปฏิกิริยาสันดาปแบบไม่สมบูรณ์  ระหว่างสารอินทรีย์ในขยะกับอากาศ  ได้พลังงานความร้อนใช้ในปฏิกิริยาการเกิดก๊าซเชื้อเพลิง
2.  ไพโรไรซิส  (Pyrolysis)  เป็นกระบวนการสังเคราะห์เชื้อเพลิงแข็งให้กลายเป็นเชื้อเพลิงเหลว  และเชื้อเพลิงก๊าซ  โดยเกิดปฏิกิริยาภายใต้สภาวะไร้อากาศหรือออกซิเจน  และให้พลังงานความร้อนจากแหล่งภายนอก  ในการแตกตัวของพันธะโมเลกุลเชื้อเพลิง  ที่อุณหภูมิ  ประมาณ  400-800  องศาเซลเซียส
4.  สรุป
                โดยทั่วไปในประเทศที่กำลังพัฒนาพฤติกรรมขององค์กรที่รับผิดชอบการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนมักพิจารณาจากความเป็นไปได้ทางด้านการเงินเพื่อการตัดสินใจลงทุนโครงการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนเป็นหลัก  โดยพิจารณาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์  สังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรองลงมา การบริหารจัดการขยะมูลฝอยจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความเข้าใจในแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน  เพื่อให้เกิดความรู้  ความเข้าใจ  เพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบของผู้บริหารองคฺกรของรัฐที่มีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนการคัดเลือกวิธีการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่เหมาะสม
               









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น