คลังข้อมูล

ป่าพรุควนเคร็ง เป็นป่าพรุที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่งแล้วในประเทศไทย ป่าพรุควนเคร็งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในอดีตเคยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำผืนใหญ่ที่มีระบบนิเวศน้ำผิวดินเชื่อมติดต่อกัน กับทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง มีความอุดมสมบูรณ์และเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของประชาชนมาตั้งแต่ก่อนยุคกรุงสุโขทัย
   
           เมื่อปี 2505 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นแฮเรียต พัดผ่านภาคใต้ ทำให้พันธุ์ไม้ดั้งเดิมในพรุโค่นล้มเสียหายจำนวนมาก พร้อมกับเกิดไฟไหม้ลุกลามซ้ำ ๆ หลายครั้ง จนถึงปี 2541 และ 2545 ได้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน น้ำที่เคยท่วมขังและหล่อเลี้ยงผืนป่าจึงหายไป เมื่อเกิดไฟไหม้จึงไม่สามารถดับได้ เนื่องจากขาดน้ำในการดับไฟ ต้องปล่อยให้ไฟลุกไหม้จนดับเอง จึงนับว่าเป็นช่วงที่ป่าพรุควนเคร็งประสบกับสภาวะเสียหายถึงขั้นวิกฤติอย่างรุนแรงทีเดียว
   
           จนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทรงรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาพรุควนเคร็ง ในลักษณะเดียวกับพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส และทำให้เสร็จภายใน 1 ปี
       
           หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการนับจากนั้นเป็นต้นมาให้หลายรูปแบบและวิธีการเพื่อพลิกฟื้นรักษาสภาพของพื้นที่ป่าแห่งนี้ และล่าสุดนายเฉลิมเกียรติ แสนวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า นายอำพล เสนาณรงค์ และนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน กปร. ได้เดินทางไปยังโครงการคืนป่าให้แผ่นดินเพื่อถวายองค์ภูมินทร์ บริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็งใกล้กับศาลหลวงต้นไทร ต.การะเกด อ.เชียรใหญ่ เพื่อเปิดงานในโครงการปลูกป่าของพื้นที่
   
              โดยป่าพรุควนเคร็งนั้นมีพื้นที่ประมาณ 223,320 ไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อ  ที่ 165,825 ไร่ และป่าถาวร ตามมติ ครม.  จำนวน 57,495 ไร่ ก่อนหน้านี้มีปริมาณ น้ำไหลเข้าสู่พรุน้อยจนทำให้เกิดไฟไหม้  พรุ ซึ่งมีผลมาจากหลายสาเหตุ อาทิ มีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรบริเวณต้นน้ำ ของ   ป่าพรุควนเคร็ง การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันและนาข้าวในบริเวณรอบ ๆ พรุควนเคร็ง และการขาดเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในป่าพรุควนเคร็งของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง จากสาเหตุเหล่านี้ ที่ทำให้น้ำ ที่ไหลลงสู่พรุน้อยกว่าปริมาณน้ำ ที่ไหลออกจึงเป็นที่มาของไฟไหม้พรุควนเคร็ง  ในช่วงที่ผ่านมา และจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่ขององคมนตรีและผู้บริหารสำนักงาน กปร. ครั้งนี้ได้มีการมอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งเฉพาะหน้าและอย่างถาวรให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการอีกด้วย   
ซึ่งในโอกาสการเปิดงานในโครงการปลูก ป่านี้ องคมนตรีและผู้บริหารสำนักงาน กปร. ได้ปลูกป่า ร่วมกับนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมในกิจกรรม จากนั้นเดินทางไปยังสำนักงานควบคุม ไฟป่าพรุควนเคร็ง ต.เคร็ง อ.ชะอวด เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและแนวทาง การแก้ไข โดยองคมนตรีและคณะได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ ซึ่งได้น้อมรับเพื่อนำไปดำเนินการต่อไป.